ดีพร้อม มอบรางวัลเครื่องจักรเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จุดประกายเอสเอ็มอี ปรับใช้เทคโนโลยี ปั้นมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 140 ลบ.
จ.นนทบุรี 18 สิงหาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 2565 และกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยมี นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์การแสดงสินค้าและการ ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด
ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าจัดประกวดการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ DIPROM Agro-Machinery Award 2022 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นชุมชน รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นกว่า 40% ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนา "เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม" ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะส่งผลงานเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าประกวด จำนวน 179 ทีม เช่น เครื่องกวนอัตโนมัติ ตู้อบ เครื่องอัดขึ้นรูป เครื่องบรรจุของเหลว เครื่องเกลาข้อหวายหรือลบข้อหวาย เครื่องสาวไหมอัตโนมัติ เครื่องควบคุมการตากแห้ง เครื่องแยกเนื้อมะม่วงสุก เครื่องซีลสายพานพร้อมระบบเติมไนโตรเจน เครื่องตรวจสอบน้ำหนักกึ่งอัตโนมัติ ระบบบำบัดควันและระบบแจ้งเตือนมลพิษ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับเสียงตอบรับจากวิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างดีและสอดคล้องตามความต้องการของผู้รับบริการส่งผลให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพในการดำเนินธุรกิจเกษตรชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 140 ล้านบาท
สำหรับการประกวดครั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัล ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มด้านเทคนิค จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย
1) รางวัลชนะเลิศ 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องกวนอัตโนมัติ พร้อมระบบสายพานลำเลียง ทีมบริษัท เอสพีพี ดีไซน์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องตรวจสอบน้ำหนักกึ่งอัตโนมัติ ทีมบริษัท เอ็น ทู เอ็ม เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลท์ จำกัด
3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องกวนแยมอัตโนมัติ ทีมวิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
2. กลุ่มด้านการพัฒนาธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล ดังนี้
1) รางวัลชนะเลิศ 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องอัดปลาร้าก้อน ทีมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 แบบอย่าง ได้แก่ ถังกวนเฉาก๊วย ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องแยกเนื้อมะม่วงสุก ทีมบริษัท ฟอร์ซฟูล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
3. กลุ่มด้านวิชาการ จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย
1) รางวัลดีพร้อมแชร์ 1 แบบอย่าง ได้แก่ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ระบบ สั่งงานแบบไร้สาย ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
2) รางวัลดีพร้อมเทค 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องอัดใบไม้ทำภาชนะ ทีมบริษัท ฟอร์ซฟูล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้งาน”
ดีพร้อม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการตอบโจทย์กำลังการผลิต เกิดความคุ้มค่ากับระดับการผลิตของวิสาหกิจ ทำให้สามารถใช้งาน ดูแล และบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนสามารถลดของเสีย ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขาย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับสินค้าเกษตรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ