กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามกิจกรรม การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามกิจกรรม การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน จ.นนทบุรี 9 กันยายน 2567 - ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม มอบหมายให้ ดร.เกรียงยุทธ ผิวอ่อน วิศวกรชำนาญการพิเศษ และนางสาวขวัญมนัส วรรธนะภูติ วิศวกรปฏิบัติการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Enterprise) ภายใต้โครงการการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ณ สถานประกอบการ บริษัท โปรแพลน อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตซอส เครื่องปรุงอาหาร น้ำจิ้ม และอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง แบบ OEM และ OBM ประเด็นในการพัฒนาปรับปรุงคือ ลดความสูญเสียที่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตในด้านคุณภาพ ด้วยการลดของเสียโดยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบขาเข้าให้อยู่ในช่วงค่าควบคุมที่กำหนด และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานตามค่าควบคุมที่วัดได้ โดยให้มีการปรับตัวแปรระหว่างการผลิตในแต่ละ Lot ของวัตถุดิบที่รับเข้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ (Flow Meter) ที่สามารถวัดปริมาณการใช้ส่วนประกอบการผลิตต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความแม่นยำในปริมาณตามสูตรการผลิตแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ลดเวลาในการผลิต ลดของเสีย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม#DIPROMRESHAPE the FUTURE โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต
09 ก.ย. 2024
พิธีปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้และส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม
พิธีปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้และส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา 23 พฤษภาคม 2567 - ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้และส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ณ ห้องชวนชม 1 ชั้น 3 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม พืชกลุ่ม ”ข้าว“ โดยการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมในการยกระดับพัฒนาธุรกิจเกษตร ซึ่งทางกิจกรรมได้ดำเนินการจัดสัมมนา/เผยแพร่ข้อมูลการให้บริการเครื่องจักร และสาธิตเทคโนโลยี สำหรับพืชกลุ่มข้าว รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดยมีผู้ให้บริการเครื่องจักรฯ และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร กลุ่มเกษตรกร มาร่วมงาน รวมกว่า 280 คน สำหรับงานในวันนี้ นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ให้เกียรติร่วมในพิธีปิดกิจกรรมด้วย ทั้งนี้ ในงานมีการประกาศผลการตัดสินการประกวดการให้บริการฯโดยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผลการดำเนินงาน ซึ่งได้มอบโล่รางวัล 3 สาขา ได้แก่(1) บริษัท ตะโกราย ไฮดรอลิค จำกัด สาขาการเตรียมแปลงเพาะปลูก(2) บริษัท จีทีเอส วาไรตี้ จำกัด สาขาการจัดการดูแลแปลง(3) บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด สาขาการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตพร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 12 ราย งานในวันนึ้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้สนใจ มาร่วมงานกว่า 50 คน RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต
23 พ.ค. 2024
DIPROM พร้อมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเป้าหมาย
กิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย วันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 9.30 น. นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวในงานสรุปผลสำเร็จและพิธีปิด กิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ ห้องอมรินทร์ ชั้น 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการยกระดับและแก้ไขปัญหาแก่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจในกลุ่มผลไม้ สมุนไพร พืชผัก และพืชเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการยกระดับจากสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม และนำระบบการจัดการในแบบอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ ใน “กิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย” ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมอบหมายสถาบันอาหาร เป็นหน่วยร่วมดำเนินการในการพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 44 กิจการ ด้วยโปรแกรมการยกระดับผลิตภาพ (Productivity Improvement) 3 ด้าน ได้แก่ Product Development & Packaging Design (PP) Process Improvement (PI) Quality & Standard (QS) การดำเนินโครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 256 ล้านบาท ผลิตภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร จะสามารถ เข้าสู่ช่องทางการตลาดได้มากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จากการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการเพิ่มผลิตภาพ ก่อให้เกิดผลในระยะยาวต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การยกระดับรายได้เกษตรกร ผู้ผลิต แปรรูป และผู้ส่งออก ภาพรวมผลสำเร็จกิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย ปี 2566 ต้นแบบธุรกิจเกษตรอาหารที่ประสบความสำเร็จ
12 ก.ย. 2023
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร จัดกิจกรรม Innovation and Agri Technology Matching Day
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงาน Innovation and Agri Technology Matching Day เชื่อมโยง คู่ค้า การตลาดและการเงิน ณ อาคารปฏิบัติการเครื่องจักรกลและเมคคาทรอนิกส์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ซึ่งงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจเกษตรต้นแบบ ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำสินค้าและบริการ Innovation and Agri Technology ของผู้ประกอบการ ให้เข้าถึงผู้ซื้ออย่างกว้างขึ้น งานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ดร. อริยาพร อํานรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กสอ. กล่าวเปิดงาน และคุณญาณพล ลิมปนะโชคชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับและความร่วมมือการดำเนินงาน ซึ่งในงานมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน โดยกิจกรรมในงานภายในงานประกอบด้วย ผู้ประกอบการร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์แนะนำสินค้าและบริการ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร 20 ราย การนำเสนอผลงานบนเวที ในกิจกรรม Pitching แสดงความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์เปอเรชั่น และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัดเข้าร่วมรับฟัง ให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาศักยภาพ และต่อยอดธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการสำรวจ รวบรวม พัฒนา บริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม และจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้เป็นศูนย์รวบรวมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม ให้บริการกับทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย สำหรับท่านที่สนใจ เข้าลงข้อมูลในระบบสามารถประสานงานได้ที่ สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-345-1414
07 ธ.ค. 2022
ดีพร้อม มอบรางวัลเครื่องจักรเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จุดประกายเอสเอ็มอี ปรับใช้เทคโนโลยี ปั้นมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 140 ลบ.
จ.นนทบุรี 18 สิงหาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 2565 และกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยมี นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์การแสดงสินค้าและการ ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าจัดประกวดการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ DIPROM Agro-Machinery Award 2022 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นชุมชน รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นกว่า 40% ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนา "เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม" ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะส่งผลงานเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าประกวด จำนวน 179 ทีม เช่น เครื่องกวนอัตโนมัติ ตู้อบ เครื่องอัดขึ้นรูป เครื่องบรรจุของเหลว เครื่องเกลาข้อหวายหรือลบข้อหวาย เครื่องสาวไหมอัตโนมัติ เครื่องควบคุมการตากแห้ง เครื่องแยกเนื้อมะม่วงสุก เครื่องซีลสายพานพร้อมระบบเติมไนโตรเจน เครื่องตรวจสอบน้ำหนักกึ่งอัตโนมัติ ระบบบำบัดควันและระบบแจ้งเตือนมลพิษ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับเสียงตอบรับจากวิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างดีและสอดคล้องตามความต้องการของผู้รับบริการส่งผลให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพในการดำเนินธุรกิจเกษตรชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 140 ล้านบาท สำหรับการประกวดครั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัล ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มด้านเทคนิค จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลชนะเลิศ 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องกวนอัตโนมัติ พร้อมระบบสายพานลำเลียง ทีมบริษัท เอสพีพี ดีไซน์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องตรวจสอบน้ำหนักกึ่งอัตโนมัติ ทีมบริษัท เอ็น ทู เอ็ม เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลท์ จำกัด 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องกวนแยมอัตโนมัติ ทีมวิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 2. กลุ่มด้านการพัฒนาธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล ดังนี้ 1) รางวัลชนะเลิศ 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องอัดปลาร้าก้อน ทีมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 แบบอย่าง ได้แก่ ถังกวนเฉาก๊วย ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องแยกเนื้อมะม่วงสุก ทีมบริษัท ฟอร์ซฟูล คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3. กลุ่มด้านวิชาการ จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลดีพร้อมแชร์ 1 แบบอย่าง ได้แก่ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ระบบ สั่งงานแบบไร้สาย ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 2) รางวัลดีพร้อมเทค 1 แบบอย่าง ได้แก่ เครื่องอัดใบไม้ทำภาชนะ ทีมบริษัท ฟอร์ซฟูล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้งาน” ดีพร้อม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการตอบโจทย์กำลังการผลิต เกิดความคุ้มค่ากับระดับการผลิตของวิสาหกิจ ทำให้สามารถใช้งาน ดูแล และบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนสามารถลดของเสีย ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขาย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับสินค้าเกษตรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
26 ส.ค 2022
ดีพร้อม จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง "ห่วงโซ่การผลิตและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากกัญชง"
29 เมษายน 2565 - ดร. อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง "ห่วงโซ่การผลิตและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากกัญชง" ผ่านระบบ Zoom และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ อัปเดตข้อมูล ความก้าวหน้าการวิจัยและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากกัญชง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทราบข้อมูลธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชง แนวโน้มและความต้องการของตลาด เกณฑ์คุณภาพและราคาเสนอของส่วนประกอบต่าง ๆ ของกัญชง ชนิดและสมบัติของสารสกัดต่าง ๆ ความก้าวหน้าของการวิจัย (การพัฒนาสายพันธุ์สำหรับการใช้งานด้านต่าง ๆ การพัฒนาชุดตรวจสารสำคัญ ผลของสารสำคัญต่อคนและสัตว์ ฯลฯ) เครื่องจักรและกระบวนการผลิต และการให้บริการผลิตในระดับทดลองและระดับอุตสาหกรรม ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจะเห็นภาพผู้เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง ความเชื่อมโยงของโครงสร้างต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบ สารสกัด และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชง ตลอดจนเป็นแนวทางในการร่วมมือพัฒนาต่อประเด็นท้าทายต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมกัญชงไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งในตลาดไทยและตลาดสากล การสัมมนานี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ คุณพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ดร.สริตา ปิ่นมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.ภญ.ประภาพรรณ เต็มกิจถาวร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมอภิปรายให้ข้อมูล ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากสถาบันอาหารโดยส่งผู้เชี่ยวชาญ คือ คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาเป็นผู้ดำเนินการสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา 194 คน
29 เม.ย. 2022
กอ.กสอ. ติดตามความก้าวหน้ากิจกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
วันที่ 8 เมษายน 2564 ผู้แทนของกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นายพงศ์กฤษณ์ เจติยวรรณ วศ.ปก. นายกฤตนันท์ เพียกขุนทด วศ.ปก. พร้อมด้วย อ.เฉลิมขวัญ อริยะวงศ์ และทีมงานดำเนินกิจกรรมฯ เข้าร่วมประชุมกับคุณนุชจรี บุญมี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ตำบลท่าข้าม จังหวัดชลบุรี เพื่อหารือรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการประสงค์ที่จะพัฒนาขั้นตอนการเตรียมปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อทำจ๊อปลานิล ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยทางทีมงานดำเนินกิจกรรมได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาเครื่องขอดเกล็ดปลาเพื่อลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
08 เม.ย. 2021
กอ.กสอ. ติดตามความก้าวหน้ากิจกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
วันที่ 8 เมษายน 2564 ผู้แทนของกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นายพงศ์กฤษณ์ เจติยวรรณ วศ.ปก. นายกฤตนันท์ เพียกขุนทด วศ.ปก. พร้อมด้วย อ.เฉลิมขวัญ อริยะวงศ์ และทีมงานดำเนินกิจกรรมฯ เข้าร่วมประชุม กับคุณกฤษณา พรหมจันทร์ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขนุนตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อหารือรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ปีงบประมาณ 2564 (ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งปรับปรุงเพิ่มผลิตภาพการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน/OTOP 130 รายในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้เลือกที่จะพัฒนากระบวนการผลิต ขนุนทอดให้มีประสิทธิภาพ และรายได้สูงขึ้น โดยทางทีมงานดำเนินกิจกรรมได้นำเสนอแนวทางในการลดน้ำมันและเพิ่มความกรอบให้กับผลิตภัณฑ์ขนุนทอดเพื่อการพัฒนาด้านดังกล่าว
08 เม.ย. 2021
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ JETRO ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย
จันทร์ 16 พ.ย. 63 โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ Japan External Trade Organization: JETRO จัดสัมมนาพิเศษ “Thailand – Japan Collaboration on Food Processing Industry” ร่วมแก้ปัญหาผู้ประกอบการไทยด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรและการผลิตจากความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสานสัมพันธ์และสร้างกรอบความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลที่ทันสมัยที่เหมาะสมกับกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่การเป็น อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งหารือเพื่อการลงทุนระหว่างภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย สำหรับการสัมมนาวันนี้ นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับองค์ความรู้ ตลอดจนแนวความคิดใหม่ ๆ จากการถ่ายทอดประสบการณ์ โดยหัวข้อการสัมมนา ได้แก่ วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย และความสำคัญในการร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดย คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป การเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินคาอาหารด้วยเทคโนโลยีและชีวภาพที่ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุน โดย บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เทคนิคการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร โดย Shikoku Kakoki Co., Ltd. การเพิ่มมูลค่าจากสินค้าเกษตร (ผลไม้) สู่การเป็นสินค้า OTOP อย่างมีคุณภาพ โดย Masdac Machinery Co., Ltd.
16 พ.ย. 2020
"อธิบดีณัฐพล" แถลงผลสำเร็จกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร
วันพฤหัสที่ 10 กันยายน 2563 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานแถลงผลสำเร็จกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ภายใต้โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรระดับชุมชน ร่วมด้วย คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวต้อนรับ และ นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กสอ. กล่าวรายงาน ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ ชั้น 7 ดีดีมอลล์ จตุจักร กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเผยแพร่ผลสำเร็จของแพลตฟอร์มออนไลน์ "IAID Application" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรและผู้รับบริการหรือเกษตรกร เพื่อส่งเสริมทั้งโอกาสและเพิ่มช่องทางการใช้บริการเครื่องจักรกลหรือผลิตภัณฑ์การเกษตรให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นแหล่งเผยแพร่การเรียนรู้ในด้านเทคนิคการใช้งานเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งภายหลังจากเปิดให้บริการแอปพลิเคชันตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา มีผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเปิดให้บริการภายในแอปพลิเคชันดังกล่าว จำนวน 18 ราย เกิดการใช้บริการของเกษตรกรครอบคลุมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ในพื้นที่ดูแลกว่า 7,000 ไร่ โดยในระยะถัดไปจะร่วมกันส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แอแพลิเคชันดังกล่าวในวงกว้างต่อไป
10 ก.ย. 2020