โดรน (Drone) เพื่อการเกษตร
โดรน (Drone) เพื่อการเกษตร
โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle, UAV) หมายถึง อากาศยานที่ไม่มีคนขับ โดยสามารถควบคุมทิศทางได้ บินต่างระดับขึ้น-ลงได้ แม้ว่าจะถูกควบคุมจากระยะไกล โดรนมีรูปร่าง ขนาด รูปแบบ และการใช้งานที่แตกต่างกันไป
ภาพจาก S.A.T.I Platform
ปัจจุบันโดรนถูกนำมาใช้ในการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ฉีดพ่นสารอารักขาพืช หว่านเมล็ดพืช พ่นปุ๋ย รดน้ำ ให้ฮอร์โมน ถ่ายภาพวิเคราะห์ ตรวจโรคพืช เป็นต้น
การใช้โดรนในการเกษตรไทย สามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1. ลงทุนซื้อโดรนเพื่อใช้งานส่วนตัวและ/หรือให้บริการฉีดพ่นพืชแก่เกษตรกรที่ต้องการ โดยราคาโดรนเพื่อการเกษตรอยู่ในช่วงประมาณ 100,000-400,0000 บาท การลงทุนซื้อโดรนนอกจากจะใช้สำหรับแปลงเกษตรของตัวเองแล้ว ยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการรับจ้างฉีดพ่นพืชแก่เกษตรกรผู้ต้องการได้อีกด้วย ทั้งนี้ เกษตรกร/ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้จำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตรในไทย อาทิ สติ (S.A.T.I), SGE (Spring Green Evolu-tion), b.a.t.h (Bug Away Thailand), โดรนเกษตร (Dronekaset), Phantom Thailand
2. รับบริการฉีดพ่นพืชด้วยโดรนผ่านผู้ให้บริการ (ผู้รับจ้างอิสระหรือองค์กร) เกษตรกรบางรายผู้ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานฉีดพ่น และผู้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโดรนที่สามารถช่วยลดต้นทุนการใช้สารฉีดพ่น และประสิทธิผลที่ให้สูงกว่าแรงงานคน แต่ไม่ประสงค์ลงทุนซื้อโดรนเองเนื่องจากต้นทุนที่สูง จะติดต่อผู้รับจ้างผู้รับจ้างอิสระหรือองค์กรให้บริการฉีดพ่นพืช ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายราย โดยราคาค่าบริการขึ้นอยู่กับลักษณะที่ตั้งของแปลงเกษตร สารเคมีที่ใช้ ลักษณะพืช เป็นต้น
ความคุ้มค่าของการใช้โดรนในการเกษตร 1. กรมวิชาการเกษตร ได้มีการทดลองนำโดรนมาพ่นสารชีวภัณฑ์ในแปลงผักคะน้า หอม ผักชี นาข้าว และ ไร่อ้อย ซึ่งพบว่าสามารถลดเวลาในการฉีดพ่นพืชเมื่อเทียบกับการฉีดพ่นโดยใช้แรงงานคนที่ใช้เครื่องสะพายหลังติดเครื่องยนต์ได้มากถึง 4-5 เท่า และลดปริมาณการใช้สารฉีดพ่นลงร้อยละ 30 - 50
2. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการวิจัย เรื่อง การศึกษาความคุ้มค่าการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่ช่วยทำนาในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท พบว่า เกษตรกรที่มีการจ้างบริการโดรนในการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช และพ่นฮอร์โมนบำรุงข้าว ซึ่งการใช้โดรนสามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3-5 เท่า (โดยขึ้นกับทักษะของผู้ควบคุมโดรน) สามารถลดปริมาณสารการใช้สารเคมีลงร้อยละ 15-20 ทั้งนี้ สำหรับค่าบริการพ่นสารเคมีโดยใช้โดรน จะเท่ากับค่าจ้างแรงงานคน คือ ไร่ละประมาณ 50-80 บาท แต่หากเป็นพื้นที่ห่างไกลจะมีการคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นตามระยะทาง
นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว การใช้โดรนยังช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการเหยียบย่ำพืชในระหว่างฉีดพ่น และลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมี
อุปสรรคในการเข้าถึงโดรนในการเกษตร สำหรับอุปสรรคในการเข้าถึงโดรนของเกษตรกรของไทย พบว่ายังขาดความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร ความรู้เรื่องประโยชน์และประสิทธิผลของการใช้โดรน และอาจมีพื้นที่ปลูกอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่ใช้บริการโดรนฉีดพ่น ทำให้ไม่พบเห็นการใช้โดรนจากพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อมูลอ้างอิง
1. สติ, โดรนเพื่อการเกษตร. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2563, จาก https://sati-platform.com
2. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สศก. ปักหมุด พื้นที่ภาคกลาง-เหนือตอนล่าง ศึกษาความคุ้มค่าการใช้โดรนในนาข้าว. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2563, จาก www.oae.go.th/view/1/รายละเอียดข่าว/ข่าว%20สศก./31120/TH-TH
บทความโดย
1. นางสาวปนิดา เอมประเสริฐสุข บริษัท เก้าไร่ บิวซิเนส โซลูชั่น จำกัด (www.gaorai.io)
2. นายบูรณะศักดิ์ มาดหมาย กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
หากท่านมีข้อเสนอแนะสามารถแจ้งได้ที่ Email : iaid.dip.ind@gmail.com
10
พ.ค.
2563